จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลักษณะภูมิประเทศทางตอนใต้เป็นที่สูง และค่อย ๆ ลาดต่ำไปทางเหนือลงสู่ลุ่มแม่น้ำมูลซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด ปัจจุบันมีเนื้อที่ 8,840 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยอำเภอ 22 อำเภอ มีประชากรราว 1.45 ล้านคน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ซึ่งพูดภาษาถิ่นต่าง ๆ กัน อาทิ ภาษาลาว(สำเนียงลาวใต้ซึ้งใช้ครอบคลุมทั้งฝั่งอุบลราชธานีและจำปาศักดิ์), ภาษากูย, ภาษาเยอ และภาษาเขมรลือ(เขมรบน) ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนและนับถือผีมาแต่เดิม
มีการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศรีสะเกษมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนเกิดพัฒนาการที่เข้มข้นในสมัยอาณาจักรขอมซึ่งได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมหลายประการไว้ เช่น ปราสาทหินและปรางค์กู่ศิลปะขอมตั้งกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง ครั้นในสมัยอาณาจักรอยุธยา มีการยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน(บริเวณใกลๆปราสาทกุด หรือปราสาทสี่เหลียมโคกลำดวน วัดเจ็ก อำเภอขุขันธ์ ในปัจจุบัน) เป็นเมืองขุขันธ์ และในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งอาณาจักรรัตนโกสินทร์ได้ย้ายเมืองไปยังบริเวณตำบลเมืองเก่า (ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ในปัจจุบัน) แต่เรียกชื่อเมืองขุขันธ์ ตามเดิม กระทั่งยกฐานะเป็น จังหวัดขุขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2459 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ. 2481
แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญในจังหวัดศรีสะเกษ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร, สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ, ปรางค์กู่, ปราสาทหินวัดสระกำแพงน้อย, ปราสาทสระกำแพงใหญ่, ปราสาทเยอ, ปราสาทหินบ้านปราสาท, ปราสาทหินโดนตวล, บึงนกเป็ดน้ำไพรบึง, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าวหอมมะลิ, ผลไม้ เช่น ทุเรียน และเงาะ, พืชสวน เช่น หอมแดง, กระเทียม และยางพารา ตลอดจนพืชไร่ เป็นต้นว่า มันสำปะหลัง และถั่วลิสง
สถานที่ท่องเที่ยว(ผามออีแดง)
ผามออีแดง ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ อยู่บริเวณใกล้เคียงกับทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร เป็นหน้าผาสูงชันกั้นเขตแดนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ตลอดแนวผามออีแดงมีระยะประมาณ 300 เมตร เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของแผ่นดินประเทศกัมพูชาที่อยู่ต่ำลงไปอย่างเป็นมุมกว้าง มีฝูงค้างคาวในยามพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณใกล้เคียงมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมโบราณสถานสถูปคู่รูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ส่วนบนกลมข้างในเป็นโพรง สำหรับบรรจุสิ่งของสร้างด้วยหินทรายแดง ขนาดกว้าง 1.93 เมตร ยาว 4.2 เมตร ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
บริเวณผามออีแดง มีภาพแกะสลักนูนต่ำเป็นภาพคน 3 คน ในเครื่องแต่งกายแบบชาวกัมพูชา สร้างขึ้นก่อนปราสาทเขาพระวิหาร ราวกลางศตวรรษที่ 11 อายุประมาณ 1,500 ปี มีโบราณวัตถุ (พระพุทธรูปนาคปรก) บริเวณจุดสูงสุดของผามออีแดงสามารถมองเห็นทัศนียภาพของปราสาทเขาพระวิหารได้อย่างชัดเจน
หน้าผาและจุดชมวิวผามออีแดง
หน้าผาและจุดชมวิวผามออีแดง
ผามออีแดง เป็นที่ตั้งของเสาธงชาติไทย ซึ่งเดิมเป็นเสาธงที่ตั้งอยู่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษาว่าปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจออกจากปราสาทพระวิหาร ทำให้ประเทศไทย ต้องถอนกำลังทหารและธงชาติไทย ที่ตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว
การถอนธงชาติไทยในครั้งนั้น ประเทศไทยถอนเสาธงออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่ได้ลดธงลงจากยอดเสาแต่อย่างใด
การเดินทาง
- รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี เข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ รวมระยะทางประมาณ 571 กิโลเมตร
- รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต 2) ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2936 2852–66 สถานีขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ โทร. 0 4561 2500 www.transport.co.th
- รถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง และสถานีรถไฟบางซื่อ มีรถธรรมดา รถเร็ว และรถด่วน สายกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ ระยะทาง 515 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2220 4334, 0 2220 4444 สถานีรถไฟศรีสะเกษ โทร. 0 4561 1525
ที่มา
1.https://th.wikipedia.org/
2.https://th.wikipedia.org/wiki/